แนะนำโครงการ

โครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกล เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 

ตลอดระยะเวลากว่ายี่สิบปีที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้แก่กลุ่มหน่วยงานร่วมเสนอโครงการ ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาจัดระบบการศึกษาในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ในการดำเนินโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยทรงเป็นองค์ประธานกรรมการโครงการฯ ด้วยพระองค์เอง หนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่ดำเนินการภายใต้โครงการฯ คือการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพดีขึ้น ให้แก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียนที่อยู่ในชนบทห่างไกล ที่มักประสบปัญหาขาดแคลนครูผู้สอน รวมถึงผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ อาทิ ผู้พิการ ผู้ต้องขัง เด็กป่วยในโรงพยาบาล ฯลฯ ตัวอย่างของโครงการที่ได้ดำเนินการและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี คือโครงการระบบศึกษาทางไกลที่มีชื่อเรียกว่า eDLTV ซึ่งทำให้เด็กในชนบทห่างไกล หรือเด็กที่เรียนในโรงเรียนที่ขาดแคลนครู หรือครูจบการศึกษาไม่ตรงกับรายวิชาที่สอน ได้มีโอกาสเรียนผ่านจอทีวี หรือจอคอมพิวเตอร์ ระบบนี้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในระดับสูง (มีผู้ใช้งานประมาณ ปีละ 2 ล้านครั้ง)

เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจะทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบในปี พ.ศ. 2558 คณะกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ จึงได้ประสานงานกับหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริมหรือจัดการเรียนการสอน สำหรับเด็กและเยาวชน และเชิญร่วมเสนอโครงการเฉลิมพระเกียรตินี้ขึ้น เพื่อขยายการพัฒนาบทเรียนออนไลน์ จากที่เคยทำระบบ eDLTV ให้อยู่ในแนวทาง Massive Open Online Courses (MOOC) เพื่อพัฒนาการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนไทยทั่วประเทศ โดยมีเนื้อหาความรู้ครบทุกสาระวิชา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะมีเนื้อหาให้เลือกเรียนได้หลากหลาย เนื่องจากประเทศไทยยังมีความต้องการบุคลากรอีกเป็นจำนวนมาก โดยในการจัดทำตามแนวทาง MOOC นี้ จะปรับปรุงรูปแบบให้เป็นระบบใหม่ที่เปิดรับเนื้อหาสาระจากแหล่งต่างๆ ได้หลายแห่ง

โครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในวโรกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 เป็นการพัฒนาระบบออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ขนาดใหญ่เพื่อให้ได้สื่อสาระเพื่อครูในการนำไปใช้สร้างสื่อการสอน และเป็นระบบ eLearning เพื่อการเรียนรู้ทางไกลสำหรับนักเรียนทั่วราชอาณาจักร ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและ WIFI โดยผลที่จะได้รับของโครงการประกอบด้วย

1) คลังเก็บภาพ คลิปวิดีโอ แผนภาพ ผังมโนทัศน์ แบบทดสอบ เกมการศึกษา สื่อแอนิเมชั่นเพื่อใช้ในการศึกษา ที่ครูทุกคนสามารถเข้าถึง นำมาปรับปรุง และเอาไปใช้งานโดยไม่ละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์

2) คลังเก็บบทเรียนจำนวนมากที่พร้อมใช้โดยนักเรียนในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา สายอาชีพ และบุคคลทั่วไป ซึ่งจัดระบบให้สอดคล้องกับหลักสูตรการสอน และเพื่อการดำเนินชีวิต (เนื้อหาเพื่อการดำเนินชีวิต อาจจะไม่มีระบุชัดเจนในหลักสูตรกรศึกษา ได้แก่ เทคนิคการทำอาหาร เทคนิคการอ่านหนังสือ เทคนิคการจัดกระเป๋าเดินทางสำหรับเด็ก/เยาวชนเมื่อต้องไปค่าย มารยาทที่ควรรู้ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ การกรอกแบบฟอร์มใบ ตม. และเนื้อหาสำหรับผู้สูงวัย ที่อาจจะต้องปรับตัวเข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลง เช่น การใช้สมาร์ตโฟน หรือ อินเทอร์เน็ต การหาสถานที่บนแผนที่ เป็นต้น)

นอกจากนี้เพื่อพัฒนาศักยภาพในการสร้างสื่อสาระความรู้เพื่อการศึกษา โครงการฯ จะจัดหาเครื่องมือในการพัฒนาสื่อสาระให้แก่โรงเรียนหรือสถาบันที่ร่วมโครงการ รวมทั้งจัดหาระบบคลาวด์ที่สามารถรองรับการใชังานของผู้ใช้จำนวนมาก

วัตถุประสงค์

  1. ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะเยาวชนผ่านระบบการเรียนออนไลน์แบบเปิดที่อนุญาตให้ทุกคนเข้าถึงเนื้อหาวิชาที่มีคุณภาพได้อย่างเสรี
  2. ส่งเสริมการร่วมกันสร้างสรรค์องค์ความรู้ทั้งที่เป็นตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ การอาชีพ และการดำเนินชีวิต ผ่านเทคโนโลยีที่เหมาะสม
  3. ส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมทางด้านวิชาการอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านเทคโนโลยีเปิด ที่มีการจัดการเรื่องการนำทรัพย์สินทางปัญญา (ภาพวาด ภาพถ่าย บทเรียน วิดีโอ) มาใช้อย่างถูกต้อง โดยเน้นความร่วมมือประกาศให้ใช้โดยไม่คิดมูลค่า แต่ไม่มีการละเมิดเพื่อนำไปใช้เชิงการค้า รวมทั้งการพัฒนาเครื่องมือสำหรับร่วมกันพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้

เป้าหมาย

  1. การผลิตเนื้อหาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยทีมงานจากโรงเรียนหรือสถาบันต่างๆ อย่างน้อย 10 สถาบัน
  2. การจัดการสื่อสาระออนไลน์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่รองรับผู้ใช้งานพร้อมกันไม่น้อยกว่า 10,000 คน
  3. การจัดทำคลังเก็บบทเรียน ภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว เอกสารประกอบบทเรียน แบบฝึกหัด สำหรับรองรับการสร้างสื่อสาระในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาไม่น้อยกว่า 10,000 รายการ
  4. การสร้างเครือข่ายขององค์กรที่มีทรัพยากรการศึกษา เพื่อการแบ่งปันทรัพยากรทางการศึกษาอย่างน้อย 5 องค์กรทำงานร่วมกัน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (องค์การมหาชน) โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฯลฯ
  5. การลงทะเบียนและติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน พร้อมระบบรายงานผล
  6. การจัดทำระบบรวบรวมแฟ้มผลงานอิเล็กทรอนิกส์ (ePortfolio) ของครู/บุคคล/หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อนำไปประกอบการเสนอขอผลงานเชิงวิชาการ และหรือการใช้ในรูปแบบอื่นๆ ตามเหมาะสมและเห็นชอบของหน่วยงานต้นสังกัด

ประโยชน์ที่จะได้รับ

  1. นักเรียนไทยทั่วประเทศสามารถเข้าเรียนในระบบทั้งในชั้นเรียนและนอกเวลาเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา
  2. ครูที่ร่วมโครงการ สามารถคัดเลือกผลงานสร้างสรรค์แบบดิจิทัลเข้าลงทะเบียน เพื่อให้นักเรียนใช้งานได้อย่างเป็นระบบ รวมทั้งได้รับทราบถึงความนิยมของบทเรียนที่สร้างขึ้น
  3. กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. สามารถติดตามความก้าวหน้าของการเรียน รวมทั้งสามารถใช้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพของสื่อสาระออนไลน์ของครูแต่ละคน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาความดีความชอบของครูได้โดยการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน
  4. ลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนที่ด้อยโอกาส