ถามตอบ

ประเด็นที่ 1 : มีสื่อในอินเทอร์เน็ต และแหล่งต่างๆ เยอะมาก เหตุใดต้องพัฒนาคลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด หรือ OER 

พฤติกรรมของผู้ใช้ทั้งนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ นักวิชาการ และบุคคลทั่วไป ส่วนมากจะค้นหาสื่อที่ตนเองต้องการใช้งานจากอินเทอร์เน็ต หรือแหล่งต่างๆ โดย ไม่ใส่ใจประเด็นลิขสิทธิ์ มักจะเข้าใจเองว่า ผู้สร้างสรรค์อนุญาต หรือเข้าใจว่า “ใช้เพียงเล็กน้อย” / “ใช้เพื่อการเรียนการสอน” / “ใช้โดยไม่ได้หากำไร” ไม่น่าจะเป็นอะไร 

ผู้สร้างสรรค์ ขาดเคลื่องมือหรือกลไกที่ช่วยเหลือในการลงทะเบียนสื่อ การประกาศเงื่อนไขทางลิขสิทธิ์ที่เหมาะสม 

โครงการฯ จึงได้เริ่มต้นพัฒนา “คลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด” หรือ OER เพื่อให้ผู้สร้างสรรค์ (ทั้งบุคคล/หน่วยงาน) ที่ต้องการเผยแพร่ผลงานของตนเอง และอนุญาตให้ผู้ใช้ใช้งานได้ตามเงื่อนไขที่ตนเองกำหนด มีแหล่งลงทะเบียนเผยแพร่สื่อ 

โครงการฯ ยังทำหน้าที่รณรงค์ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้ผู้ใช้ทุกภาคส่วน จึงลดภาระการสื่อสารของผู้สร้างสรรค์

สำคัญที่สุด “ทรัพย์สินมีค่าอันเกิดจากสร้างสรรค์ของผู้สร้างสรรค์” ได้รับการบริหารจัดการ ได้รับการจัดเก็บไว้ในระบบที่รัฐบาลเป็นผู้พัฒนา และดูแล อันจะเป็น “สมบัติสำคัญของชาติ” ต่อไป (แทนที่จะถูกเก็บไว้ในเครื่องแม่ข่ายของผู้ให้บริการต่างประเทศ)

 

ประเด็นที่ 2 : กลุ่มเป้าหมาย และรูปแบบสื่อของโครงการ คืออะไร

โครงการฯ รองรับทุกคนทุกอาชีพในประเทศไทย และเห็นว่าทุกอย่างเป็น “ความรู้” ดังนั้นผู้สร้างสรรค์อาจจะเผยแพร่สื่อในรูปแบบภาพถ่ายจากชีวิตประจำวัน เช่น ภาพอาหารที่ทานในแต่ละมื้อ ภาพสิ่งของในบ้าน สื่อวีดิทัศน์ที่ผลิตโดยหน่วยงาน หรือเอกสารแผนการสอนของครูอาจารย์ 

 

ประเด็นที่ 3 : สื่อที่จัดเก็บในคลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด เป็นกรรมสิทธิ์ของใคร

สื่อทุกอย่าง ผู้สร้างสรรค์ยังเป็นเจ้าของ สามารถนำเข้า เอาออก ปรับเปลี่ยนสัญญาอนุญาต หรือเงื่อนไขการใช้งานสื่อได้ตามต้องการ 

โครงการฯ ทำหน้าที่เพียงบริหารจัดการระบบ และช่วยประชาสัมพันธ์สื่อ ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมการใช้สื่อ

 

ประเด็นที่ 4 : เราสามารถเข้าร่วมโครงการในรูปแบบใดได้บ้าง

ทุกท่าน ทุกหน่วยงาน สามารถร่วมโครงการได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ในฐานะผู้ใช้งาน โดยเลือกสืบค้นสื่อจากคลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด และใช้งานตามเงื่อนไขที่ผู้สร้างสรรค์กำหนด อันจะเป็นส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม และให้เกียรติผู้สร้างสรรค์ รวมทั้งยังเป็นการลดการกระทบกระทั่งในประเด็นลิขสิทธิ์

หรือในฐานะผู้สร้างสรรค์ โดยร่วมเผยแพร่ หรือสร้างสรรค์และเผยแพร่สื่อของตน หรือหน่วยงาน ภายใต้สัญญาอนุญาตแบบเปิด Creative Commons โดยโครงการฯ พร้อมให้การสนับสนุนในการดำเนินการ (ภายใต้การตกลงร่วมกัน)

หรือในฐานะผู้สนับสนุนโครงการ โดยร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์การให้ความรู้ร่วมกับโครงการ หรือแนะนำให้โครงการฯ รู้จักกับบุคคล/หน่วยงาน เพื่อเรียนเชิญมาร่วมโครงการฯ 

 

ประเด็นที่ 5 : ภาพ ข้อความ ที่นำมาออกแบบสร้างสรรค์สื่อ ได้อ้างอิงทุกครั้ง ไม่น่าจะมีปัญหา

การอ้างอิงเป็นหลักปฏิบัติทั้งด้วยมารยาทของการสร้างสรรค์ผลงานวิชาการ และการให้เกียรติผู้สร้างสรรค์ เจ้าของผลงาน แต่การอ้างอิงไม่ได้บอกว่า “ไม่มีปัญหา” เพราะประเด็นฟ้องร้องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของผู้สร้างสรรค์ และใน พรบ. ลิขสิทธิ์ ก็ระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 33 ว่า “การกล่าว คัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานบางตอนตามสมควรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง” โดยสาระสำคัญของมาตรา 32 วรรคหนึ่งคือ “การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์”

ดังนั้นหากอ้างอิง และไม่เป็นไปตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ก็ย่อมมีความเสี่ยง

โดยมาตรา 32 วรรคหนึ่ง กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้จัดทำเป็นคำแนะนำไว้ในหนังสือ “คู่มือลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม” เช่น ผู้สอน ผู้เรียน นำภาพจากอินเทอร์เน็ตมาได้ในจำนวนที่ไม่เกินที่กำหนดแต่จะนำภาพนั้นเผยแพร่กลับในอินเทอร์เน็ตไม่ได้ หากเจ้าของไม่อนุญาต เป็นต้น

 

ประเด็นที่ 6 : สื่อและบทเรียนออนไลน์ในโครงการฯ เหมาะสำหรับครู นักเรียนใช่หรือไม่

สื่อและบทเรียนออนไลน์ในโครงการ แม้จะถูกจัดกลุ่มตามระบบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่สามารถนำไปประยุกต์ได้กับทุกภาคส่วน เช่น การอบรมผู้ประกอบให้ทราบถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจภายใต้ความเสี่ยงของกฎหมายลิขสิทธิ์ และสามารถหาทางออกได้โดยเลือกใช้สื่อจากคลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด มาประกอบธุรกิจ เพราะสื่อหลายชิ้นในคลังสื่อ ผู้สร้างสรรค์ เจ้าของได้ประกาศสัญญาอนุญาต Creative Commons ให้นำไปใช้เพื่อหารายได้ได้ 

สื่อที่ ผู้สร้างสรรค์ เจ้าของได้ประกาศสัญญาอนุญาต Creative Commons ให้นำไปใช้เพื่อหารายได้ได้ จึงเป็นสื่อที่ผู้ประกอบสามารถเลือกไปใช้งานในการดำเนินธุรกิจของตนเองได้

 

ประเด็นที่ 7 : เหตุใดจึงต้องสื่อสารความรู้ ความเข้าใจในประเด็นลิขสิทธิ์กันก่อนที่จะร่วมโครงการได้

จากการดำเนินการมาระยะหนึ่ง โครงการฯ พบว่าส่วนมากมีความเข้าใจเกี่ยวกับ “ลิขสิทธิ์” โดยเฉพาะประเด็นลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมคลาดเคลื่อน หลายๆ ท่านไม่เคยอ่านหรือศึกษากฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่ใช้วิธีบอกต่อกันมาผ่านกระบวนการต่างๆ โดยเฉพาะประเด็น “สิทธิที่เป็นธรรม” 

อีกทั้งการสร้างสรรค์สื่อมีมิติที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจากการใช้ข้อความ ภาพ เพราะปัจจุบันยังกระทบถึงลิขสิทธิ์ฟอนต์ สื่อมัลติมีเดีย รวมถึงโปรแกรมที่นำมาสร้าง ซึ่งส่งผลให้ “สื่อ” ดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อไปด้วย จึงต้องสื่อสารทำความเข้าใจก่อนร่วมโครงการ และหรือดำเนินการกิจกรรมใดๆ กับโครงการ

 

ประเด็นที่ 8 : การเข้าร่วมโครงการ

โครงการไม่รับผุ้ร่วมโครงการแบบเสรี ทั้งนี้ทุกหน่วยงาน ทุกท่านจะต้องผ่านการพูดคุยสื่อสารจากทีมงานโดยเฉพาะประเด็นลิขสิทธื์ก่อน ติดต่อสอบถามหรือสนใจร่วมโครงการติดต่อที่ stks@nstda.or.th หรือกลุ่ม FB https://www.facebook.com/groups/oer.mooc/